แนวคิด

                        ลายผ้าไทยเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต และสะท้อนความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ มีการถ่ายทอดจากบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านเรื่องราวของกาลเวลา ความคิดและจิตวิญญาณ จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งซึ่งแสดงความเป็นไทย บนผืนผ้าแต่ละผืน มีลวดลาย สัญลักษณ์ และมีความหมายอันลึกซึ้งแตกต่างกันไปตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ลวดลายบางลวดลายมีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีความงามที่วิจิตรพิสดาร ถ้ามองให้เป็นรูปธรรม ลายผ้าไทยคือสมบัติอันล้ำค่าของชาติ แต่ในมิติทางนามธรรม เป็นเรื่องของสุนทรียภาพและคุณค่าทางด้านจิตใจ ยิ่งสังคมไทยปัจจุบันนี้ ให้ความสำคัญกับวัตถุจนหลงลืมที่จะดื่มด่ำกับคุณค่าของความงาม
                       ผู้วิจัยจึงได้สร้างสรรค์งานศิลปะชุดนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสุนทรียภาพ โดยได้หยิบยกเรื่องราวและความงดงามของลวดลายผ้าไทยโบราณช่วงอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นำมาตัดทอนและเพิ่มเติม ผสมผสานกับจินตนาการส่วนตัว โดยการนำสื่อวัสดุใหม่อาทิ ลูกปัด โมเสก และแผ่นอะครีลิกรูปทรงเรขาคณิต เป็นต้น มาปะติดจนเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เพื่อสื่อสารไปถึงคุณค่าของ “ลายผ้าไทย” ที่ส่งผลต่อชีวิตและการดำเนินชีวิตของมนุษย์
                       การสร้างสรรค์งานศิลปะลายอดีตกับวัสดุใหม่ ผู้สร้างสรรค์ได้จัดทำขึ้นทั้งหมดจำนวน 2 ชุด ชุดที่ 1 ขนาด 35 x 35 ซม. จำนวน 59 ชิ้น ชุดที่ 2 ขนาด 50 x 50 ซม. จำนวน 16 ชิ้น เขียนลงบนผืนผ้าใบโดยใช้สีอะครีลิกและปะติดวัสดุลงไป

ภาพผลงาน

ชื่อภาพ : ลายอดีตกับวัสดุใหม่ หมายเลข 1

เทคนิค : สื่อผสม
ขนาด : 250 x 400 ซม.

ชื่อภาพ : ลายอดีตกับวัสดุใหม่ หมายเลข 2

เทคนิค : สื่อผสม
ขนาด : 250 x 230 ซม.